มณฑป “สี่อิริยาบถ” ที่วัดพระพายหลวง สุโขทัย มีพระลีลา 2 องค์คือ “พระเจ้าหย่อนตีน” – “พระเจ้าจงกรม”

มณฑป “สี่อิริยาบถ” ที่วัดพระพายหลวง สุโขทัย มีพระลีลา 2 องค์คือ “พระเจ้าหย่อนตีน” – “พระเจ้าจงกรม”

มณฑป “สี่อิริยาบถ” ที่วัดพระพายหลวง สุโขทัย มีพระลีลา 2 องค์
คือ “พระเจ้าหย่อนตีน” – “พระเจ้าจงกรม”

          ซากอาคารแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในวัดพระพายหลวง ซึ่งเป็นวัดสำคัญที่ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเมืองโบราณสุโขทัย คือ อาคารที่เรียกว่า “มณฑปพระสี่อิริยาบถ” ซึ่งเป็นอาคารเครื่องไม้มุงกระเบื้อง กึ่งกลางเป็นแกนอิฐขนาดใหญ่ มีผนัง 4 ด้าน แต่ละด้านก่อเป็นพระพุทธรูปด้านละ 1 องค์ ทว่าปัจจุบันเครื่องไม้มุงกระเบื้องของอาคารได้พังทลายไปหมดแล้ว เหลือเพียงแกนอิฐขนาดใหญ่ที่อยู่กึ่งกลางเท่านั้น
          เดิมเชื่อกันว่า พระพุทธรูปบนผนังของแกนอิฐนี้ประกอบไปด้วยพระพุทธรูปในอิริยาบถต่างๆ กัน 4 อย่างคือ นั่ง นอน ยืน เดิน อย่างละ 1 องค์ อย่างไรก็ตาม Facebook ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ ได้เสนอข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจว่า พระพุทธรูปที่อยู่บนผนังของแกนอิฐดังกล่าวนี้ อาจไม่ได้มีพระพุทธรูปในอิริยาบถ 4 อย่างดังที่เข้าใจกันมาแต่เดิม หากแต่ประกอบด้วยพระพุทธรูป “เดิน” หรือพระปางลีลา อยู่ถึง 2 องค์ด้วยกัน นั่นคือ
          ที่ผนังด้านทิศตะวันออก ซึ่งปัจจุบันยังคงเห็นเค้าโครงขององค์พระพุทธรูปหลงเหลืออยู่ เป็นพระปางลีลาขนาดใหญ่ โดยพบปูนปั้นรูปต้นไม้ซึ่งคาดว่าคือ “ต้นมะม่วง” หลงเหลืออยู่ ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะสื่อถึงเหตุการณ์ตอนมหาปาฏิหาริย์เพื่อสั่งสอนเดียร์ถีย์ที่เมืองสาวัตถี โดยพระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจงกรมบนต้นมะม่วง
         ส่วนผนังด้านทิศตะวันตก ซึ่งปัจจุบันพระพุทธรูปได้พังทลายไปหมดแล้ว เหลือเพียงปูนปั้นรูปเทวดาอยู่ข้างๆ เท่านั้น Facebook ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ ได้สันนิษฐานว่า พระพุทธรูปบนผนังด้านนี้น่าจะสร้างขึ้นเป็นพระพุทธรูปปางลีลาเช่นเดียวกัน แต่เป็นการสร้างเพื่อสื่อถึงเหตุการณ์ตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ มาสู่โลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสะ โดยมีเหล่าเทวดามาชุมนุมกันเพื่อส่งเสด็จ ซึ่งสอดรับกับปูนปั้นรูปเทวดาที่หลงเหลืออยู่
          การสร้างพระพุทธรูปปางลีลาพร้อมกัน 2 องค์ใน “มณฑปพระสี่อิริยาบถ” เช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับพุทธประวัติ 2 ตอนนี้ของศิลปะสุโขทัย และยังสอดรับกับข้อความที่ปรากฏในจารึกวัดสรศักดิ์ที่ระบุถึงชื่อพระพุทธรูปอิริยาบถ “เดิน” พร้อมกัน 2 ชื่อคือ “พระเจ้าจงกรม” และ “พระเจ้าหย่อนตีน” โดย “พระเจ้าจงกรม” น่าจะหมายถึง พระพุทธรูปแสดงเหตุการณ์มหาปาฏิหาริย์เสด็จขึ้นไปจงกรมบนต้นมะม่วง ส่วน “พระเจ้าหย่อนตีน” น่าจะหมายถึง พระพุทธรูปแสดงเหตุการณ์ตอนเสด็จก้าวลงจากดาวดึงส์ลงสู่โลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสะ ซึ่งทั้งหมดตรงกับพระพุทธรูปบนผนังมณฑปสี่อิริยาบถ วัดพระพายหลวง นั่นเอง

อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ใน facebook ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ คลิกที่นี่  http://bit.ly/2jKmQxA 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้