โคลงนิราศหริภุญไชย แต่งให้ “พระนางสิริยศวดี”
กษัตริย์หญิงล้านนาเมื่อ 500 ปีที่แล้ว
โคลงนิราศหริภุญไชย คือ โคลงเก่าแก่ที่แต่งขึ้นในล้านนาเมื่อ พ.ศ.2060 ในรัชสมัยของพระเมืองแก้วแห่งล้านนา เล่าเรื่องการจากลาสตรีนางหนึ่ง เนื่องจากต้องเดินทางจากเมืองเชียงใหม่สู่พระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน เดิมยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง และใครคือสตรีที่ถูกระบุอยู่ในนิราศฉบับนี้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ศ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ อาจารย์เมธี ใจศรี ได้บรรยายในหัวข้อ 500 ปีโคลงนิราศหริภุญไชย : คุณค่าและความทรงจำ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 ว่า จากการศึกษาโคลงนิราศหริภุญไชยอย่างละเอียดแล้วพบว่า ผู้แต่งนิราศเรื่องนี้คือ “ศิริยวาปีมหาอำมาตย์” ซึ่งน่าจะเป็น “สวามีใหม่” ของกษัตริย์หญิงพระองค์หนึ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักคือ “พระนางสิริยศวดี” หรือ “นางโป่งน้อย” ซึ่งในนิราศฉบับนี้เรียกว่า “ทิพ”
พระนางสิริยศวดี คือ พระราชมารดาของพระเมืองแก้ว เดิมพระองค์เป็นชายาของพระยอดเชียงราย กษัตริย์ล้านนาพระองค์หนึ่ง ต่อมาเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พระยอดเชียงรายถูกถอดจากกษัตริย์ แล้วได้ยกพระเมืองแก้ว พระราชโอรส ขึ้นครองราชย์สืบแทน แต่เนื่องจากขณะนั้นทรงมีพระชันษาเพียง 14 ปี ในเวลานั้นพระนางสิริยศวดี พระราชมารดาจึงเข้าร่วมบริหารราชการด้วย โดยในเอกสารโบราณบางฉบับระบุว่า ทั้งสองพระองค์ขึ้นครองราชย์พร้อมกัน นอกจากนี้ในเอกสารโบราณมักเรียกทั้งสองพระองค์ว่า “พระเป็นเจ้าแม่ลูก” หรือดังในจารึกพะเยา เรียกว่า “สมเด็จบพิตรพระมหาเทวีสรีรัตนจักรวรรดิพระราชมารดา” หรือในกฎหมายมังรายศาสตร์ ก็ได้กล่าวว่า หากมีการตัดสินคดีความและมีสินไหมที่ต้องชำระ ก็จะต้องชำระให้แก่ทั้งพระเมืองแก้วและพระนางสิริยศวดีพร้อมกันทั้งสองพระองค์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วพระนางคือกษัตริย์พระองค์หนึ่งของล้านนานั่นเอง
สำหรับโคลงนิราศหริภุญไชยนี้ กล่าวถึงพระนางในชื่อว่า “ทิพ” โดยในเนื้อหาไม่ได้ระบุว่าคือพระนางสิริยศวดีโดยตรง แต่หากพิจารณาจากบริบทของเนื้อหาแล้ว ก็จะถอดรหัสได้ว่าคือพระนางนั่นเอง ดังเช่นคำว่า “ธิบาธิเบศร์แก้ว กัลยา” (หมายถึงกษัตริย์หญิง) หรือ “ทิพอาชญา” (หมายถึง ทิพผู้ทรงอาชญา ซึ่งหมายถึงกษัติรย์) ดังนั้นผู้แต่งเรื่องนี้ที่กล่าวถึงการจากลาคนรักหรือพระนางสิริยศวดี ก็น่าจะคือ “ศิริยวาปีมหาอำมาตย์” ซึ่งน่าจะเป็นพระสวามีใหม่ หลังจากที่พระยอดเชียงรายทรงหมดอำนาจไปแล้ว โดยนามของท่านได้ปรากฏอยู่ในชินกาลมาลินีระบุนามว่า “ศิริยวาปีมหาอำมาตย์ผู้เป็นสวามี” ซึ่งบุคคลท่านนี้อาจเป็นอำมาตย์ผู้ค้ำราชบัลลังก์ หรือเป็นเชื้อพระวงศ์ก็เป็นได้
(ที่มาภาพ: http://tuleedin.blogspot.com/2013/02/blog-post_7044.html)