“อรุณเทพบุตร” บนหน้าบันโบสถ์และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์ของ “คณะราษฎร”
อ.ชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายไว้ในหนังสือ “การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรมฯ” ว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 สิ่งก่อสร้างและงานศิลปกรรมต่างๆ ที่คณะราษฎรจัดสร้างขึ้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ คือมีการละทิ้งแนวทางแบบจารีตนิยมเดิม หันมาสร้างอาคารแบบเรียบง่าย ไม่มีฐานานุศักดิ์ ซึ่งสะท้อนความหมายในเรื่องความเสมอภาค และความเป็นสามัญชน
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนลวดลายประดับบนหน้าบันของโบสถ์ ซึ่งจากเดิมมักประดับด้วยลายแบบจารีต เช่น พระนารายณ์ทรงครุฑ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ มาเป็นลวดลายแบบใหม่ เช่น “ลายอรุณเทพบุตร” ดังที่ปรากฏอยู่ที่หน้าบันของโบสถ์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน อรุณเทพบุตรนี้ เป็นเทพในตำนานฮินดู ผู้เป็นสารถี(ผู้ขับรถ)ให้กับพระอาทิตย์ มีร่างเพียงครึ่งบน โดยได้รับการออกแบบให้ถือแพนหางนกยูง อันเป็นสัญลักษณ์ของสารถี อยู่ในมือทั้งสองข้าง
อ.ชาตรี อธิบายว่า การใช้รูปอรุณเทพบุตร มาประดับในงานสถาปัตยกรรมเช่นนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเชื่อว่าน่าจะมีความหมายสื่อถึง “แสงสว่างแรกขึ้นของไทยในยุคใหม่” หรือ “รุ่งอรุณใหม่ของชาติในระบอบประชาธิปไตย” (คำว่าอรุณ “แสงตะวันเมื่อแรกขึ้น”)
ลายรูปอรุณเทพบุตรนี้ ยังได้นำมาประดับอยู่ที่เหนือซุ้มประตูของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และที่หน้าบันของโบสถ์มาตรฐาน “แบบ ก.” ที่ได้รับการออกแบบใหม่ เพื่อให้วัดต่างๆ นำไปสร้างขึ้นด้วย (แต่ต่อมาวัดหลายแห่งได้มีการปฏิสังขรณ์ใหม่และปรับเปลี่ยนลวดลายไปเป็นแบบอื่น)
ลาย "อรุณเทพบุตร" บนหน้าบันโบสถ์มาตรฐาน "แบบ ก." ออกแบบเมื่อ พ.ศ.2483 โดยพระพรหมพิจิตร ผู้ก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร (ที่มา: ชวลิต อธิปัตยกุล, รูปแบบอุโบสถในจังหวัดอุดรธานี ช่วง พ.ศ.2511-2530 กับการสืบเนื่องทางงานช่าง วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ม.ศิลปากร 2552 หน้า 82.) |