กลางเมืองราชบุรี เคยมีปราสาทหิน ศิลปะบายน
ปติสร เพ็ญสุต ได้อธิบายไว้ในงานวิจัยว่า จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2546-2553 นักโบราณคดีได้พบซากฐานปราสาทแบบเขมรก่อด้วยศิลาแลงอยู่ใต้วิหารหลวง ล้อมรอบด้วยระเบียงคด และยังพบซุ้มโคปุระ เสาประดับกรอบประตูแบบศิลปะเขมรด้วย โดยทั้งหมดถูกล้อมด้วยกำแพงศิลาแลงที่ด้านบนมีทับหลังประดับพระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้วแบบศิลปะบายน
จากการพบครั้งนั้น ทำให้ทราบว่าครั้งหนึ่งบริเวณวัดมหาธาตุแห่งนี้ เคยมีปราสาทแบบเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18(ศิลปะบายน) ตั้งอยู่ ก่อนที่ต่อมาจะถูกรื้อลงและสร้างวิหารหลวงทับในตำแหน่งเดิม แล้วสร้างพระปรางค์ขึ้นใหม่ทางด้านหลัง
ปราสาทแบบเขมรหลังนี้ คงเป็นศูนย์กลางของเมืองราชบุรีโบราณ ซึ่งอาจเป็นเมืองเดียวกับชื่อเมืองที่ปรากฏอยู่ในจารึกปราสาทพระขรรค์ที่เรียกว่า “ศรีชยราชปุรี” ซึ่งเป็นเมืองแห่งหนึ่งในปริมณฑลอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทั้งนี้ในบริเวณภูมิภาคนี้ยังพบร่องรอยของศิลปะเขมรสมัยบายนอยู่อีกหลายแห่ง เช่น ปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี ซากโบราณสถานที่สระโกสินารายณ์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ปราสาทกำแพงแลง จ.เพชรบุรี ซึ่งทั้งหมดเป็นหลักฐานแสดงถึงเครือข่ายทางการเมืองและการค้าตามเส้นทางข้ามคาบสมุทรของเมืองพระนครไปยังฝั่งทะเลอันดามัน
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ใน วิทยานิพนธ์เรื่อง ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในเขตพุทธาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี โดยปติสร เพ็ญสุต อ่านรายละเอียดที่ http://www.thapra.lib.su.ac.th/thesis/showthesis_th.asp?id=0000008005
(ภาพประกอบปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์เรื่อง ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในเขตพุทธาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี โดยปติสร เพ็ญสุต)