“นครพระกฤษณ์” ในจารึกหลัก 2 คือ “ทวารวดีลพบุรี” ที่ชุมนุมพระธาตุ?

“นครพระกฤษณ์” ในจารึกหลัก 2 คือ “ทวารวดีลพบุรี” ที่ชุมนุมพระธาตุ?

“นครพระกฤษณ์” ในจารึกหลัก 2 คือ “ทวารวดีลพบุรี” ที่ชุมนุมพระธาตุ?

          ศิลาจารึกหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 มีข้อมูลตอนหนึ่งกล่าวว่า พระมหาเถรศรีศรัทธา พระสงฆ์เชื้อพระวงศ์องค์สำคัญของสุโขทัย ได้เสด็จมายัง “นครพระกฤษณ์” (เมืองพระกฤษณะ) ซึ่งเป็น “ที่ชุมนุมพระมหาธาตุ” และได้ทรงปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุหลวงที่ตั้งอยู่กลางเมือง โดยขอมเรียกพระมหาธาตุองค์นี้ว่า “พระธม”

          นักวิชาการเชื่อกันว่า นครพระกฤษณ์  ที่กล่าวถึงในจารึกนี้ น่าจะหมายถึง “เมืองทวารวดี” ซึ่งเป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะ

          เดิมมีนักวิชาการเสนอว่า นครพระกฤษณ์นี้ น่าจะหมายถึงเมืองนครปฐมโบราณ สมัทวารวดี โดย “พระธม” น่าจะหมายถึงเจดีย์องค์เก่าแก่ที่ต่อมามีการสร้างพระปฐมเจดีย์ครอบทับไว้ ดังปรากฏในปัจจุบัน

          อย่างไรก็ตาม พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ได้เสนอแนวคิดใหม่ว่า นครพระกฤษณ์ น่าจะหมายถึงเมืองลพบุรี(ละโว้) ซึ่งเป็นเมืองสมัยทวารวดีแห่งสำคัญ โดยพระมหาธาตุที่พระมหาเถรศรีศรัทธาได้ทรงปฏิสังขรณ์ในคราวนั้น น่าจะหมายถึงสถูปองค์ใดองค์หนึ่งในเมืองลพบุรี

          พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายว่าจากข้อมูลในจารึกหลักที่ 2 ที่เล่าว่า นครพระกฤษณ์ เป็นสถานที่ชุมนุมพระมหาธาตุนั้น น่าจะมีหมายถึงเมืองที่พระบรมสารีริกธาตุจะเสด็จมารวมกัน เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดพระศาสนาเมื่อ พ.ศ. 5000  ก่อนที่จะไปรวมกันที่ลังกา แล้วเผาไหม้ดับสูญไปในที่สุด ตัวอย่างความเชื่อนี้ ปรากฏให้เห็นจากเมืองนครชุม (นครพระชุม) กำแพงเพชร ซึ่งเชื่อว่าเป็นสถานที่พระมหาธาตุจะมาชุมนุมกัน

          พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายว่า เมืองลพบุรี น่าจะเป็นอีกเมืองหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ชุมนุมพระมหาธาตุ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่เล่าถึงเหตุการณ์ในสมัยกรุงธนบุรีว่า พระเถระได้ทูลเชิญให้สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงย้ายไปประทับที่เมืองลพบุรี โดยอธิบายว่าเมืองแห่งนี้คือ “ที่ชุมนุมพระบรมธาตุ” จากข้อมูลพระราชพงศาวดารดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับข้อมูลในจารึกหลักที่ 2 ที่กล่าวถึงนครพระกฤษณ์ว่าเป็นที่ชุมนุมพระมหาธาตุ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่านครพระกฤษณ์อาจหมายถึงเมืองลพบุรี

          ขณะที่สุจิตต์ วงษ์เทศ สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า สถูปที่พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ทรงปฏิสังขรณ์นั้น อาจหมายถึงพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี

อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ใน

นิตยสารศิลปากร ปีที่ 61 ฉบับที่ 1 https://cutt.ly/swGzy0xQ

รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว https://www.youtube.com/watch?v=-WYAtIP5bog

(ภาพประกอบ: ซากเจดีย์เก่าแก่ขนาดใหญ่ วัดนครโกษา ลพบุรี สร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดี)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้