หล่มสัก หล่มเก่า เพชรบูรณ์ ชุมชนชาวลาว เวียงจันทน์ หลวงพระบาง

หล่มสัก หล่มเก่า เพชรบูรณ์ ชุมชนชาวลาว เวียงจันทน์ หลวงพระบาง

หล่มสัก หล่มเก่า เพชรบูรณ์ ชุมชนชาวลาว เวียงจันทน์ หลวงพระบาง
         เมืองหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ คือชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งที่อยู่สืบเนื่องมายาวนาน โดยชุมชนแรกเริ่มตั้งอยู่ที่บริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า “หล่มเก่า”
         สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยเสนอว่า เมืองหล่มสักอาจเกี่ยวข้องกับ “เมืองลุมบาจาย” ที่ปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ส่วนในภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา เรียกเมืองนี้ว่า “ล่มเลย” ซึ่งเป็นการเรียกเมืองหล่มสัก ควบคู่กับเมืองเลย ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 3 มีหลักฐานเอกสารเรียกชาวเมืองหล่มสักว่า “ลาวหล่ม”
        ธีระวัฒน์ แสนคำ นักประวัติศาสตร์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพิษณุโลก เพชรบูรณ์ อธิบายว่า เมืองหล่มสักอาจก่อรูปขึ้นจากการอพยพของชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ ในราวพ.ศ. 2238-2293  หลังจากเกิดความขัดแย้งในราชสำนักเวียงจันทน์จนบ้านเมืองแตกออกเป็น 3 รัฐ คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ไม่ใช่การอพยพโยกย้ายมาหลังจากศึกอนุวงศ์อย่างที่เคยเข้าใจกันมาแต่เดิม
        ร่องรอยของวัฒนธรรมลาวที่หล่มสักที่หลงเหลืออยู่ มีเช่น เจดีย์ทรงบัวเหลี่ยมแบบลาว ที่วัดทุ่งธงไชย อ.หล่มเก่า นอกจากนี้ในเอกสารโบราณยังแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมลาวที่สืบทอดต่อมายังเมืองหล่มสัก เช่น รูปแบบการปกครองแบบล้านช้าง ซึ่งปกครองโดยกรมการเมืองผู้ใหญ่ 4 คน หรือที่เรียกว่า “อาญาสี่” ประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร หรือดังที่พบในสมณศักดิ์ที่ใช้เรียกพระสงฆ์อาวุโส เช่น หลวงพ่อหลักคำ
        ธีระวัฒน์ แสนคำ อธิบายว่า เมืองหล่มสักอาจเป็นเมืองที่เรียกได้ว่า “เมือง 2 ฝ่ายฟ้า” หรือเมืองที่มีสถานะ “กำกวม” ขึ้นกับรัฐ 2 รัฐ ทั้งรัฐสยามและรัฐล้านช้าง โดยเฉพาะในช่วงสมัยกรุงธนบุรีเป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่เวียงจันทน์ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสยามแล้ว แต่หล่มสักก็ยังมีการส่งส่วยให้เวียงจันทน์ รวมทั้งยังส่งส่วยให้แก่กรุงธนบุรีไปพร้อมกันด้วย
        ต่อมาเมืองหล่มสัก ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสมรภูมิรบระหว่างรัฐสยามกับล้านช้างในศึกเจ้าอนุวงศ์
เก็บความจาก หนังสือเรื่อง “เมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสักกับศึกเจ้าอนุวงศ์” เขียนโดย ธีระวัฒน์ แสนคำ จัดพิมพ์เผยแพร่โดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ 056-717140

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้