ภาพพระอินทร์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จิตรกรรมฝาผนัง กับ ความหมายที่สัมพันธ์กับสถานที่ ภาพพระอินทร์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ภาพพระอินทร์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จิตรกรรมฝาผนัง กับ ความหมายที่สัมพันธ์กับสถานที่ ภาพพระอินทร์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ภาพพระอินทร์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

จิตรกรรมฝาผนัง กับ "ความหมายที่สัมพันธ์กับสถานที่"

         นักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายท่านที่ศึกษาจิตรกรรมฝาผนังได้อธิบายว่า การเลือกเนื้อเรื่องมาเพื่อวาดบนผนังอาคารล้วนมีความหมายที่สัมพันธ์กับสถานที่หรือไม่ก็สัมพันธ์กับผู้สร้าง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ จิตรกรรมฝาผนังไม่ได้ถูกวาดขึ้นอย่างลอยๆ เพียงเพื่อบอกเล่าเรื่องบนภาพหรือเป็นเพียงการสั่งสอนคุณงามความดีให้แก่ผู้ชมภาพเท่านั้น  แต่เรื่องเหล่านั้นยังแสดงให้เห็นถึงการจงใจเลือกเนื้อเรื่องมาวาดเพื่อสร้างความหมายให้สอดรับสัมพันธ์กับสถานที่อีกด้วย ดังเช่น จิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ พระราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชสมบัติอย่างเป็นทางการ
        จิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งแห่งนี้ วาดเรื่อง "ที่มาของพระอินทร์" เป็นการนำเสนอเรื่องการประกอบบุญบารมีของพระอินทร์ในอดีตชาติตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นสามัญชน จนต่อมาผลบุญนั้นได้ส่งผลให้ไปจุติในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นพระอินทร์ผู้ซึ่งถือเป็นจอมเทพแห่งสวรรค์ นักวิชาการอธิบายว่าเหตุที่วาดเรื่องนี้ น่าจะเป็นการจงใจเลือกมาวาดเพื่อให้สอดรับกับสถานที่ ซึ่งเป็นมณฑลพิธีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเปรียบเทียบกับการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งประดุจทรงเป็นพระอินทร์นั่นเอง
         ภาพจิตรกรรมแห่งนี้มีฉากหนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญ คือ ภาพที่อยู่ด้านหลังของพระที่นั่งภัทรบิฐ ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่ทรงประทับรับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นพระราชพิธีช่วงสำคัญ ที่จะแสดงว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์  ภาพในผนังนี้เป็นภาพตอนเฉลิมฉลองในคราวทรงจุติเป็นพระอินทร์ ในภาพนี้มีเหล่าทวยเทพต่างมาฟ้อนรำยินดีกัน แต่บนแท่นที่ประทับของพระอินทร์กลับไม่ปรากฎภาพร่างของพระอินทร์แต่อย่างใด นักวิชาการอธิบายว่า ภาพนี้ถือเป็นการวาดขึ้นเพื่อเป็นฉากหลังของพระราชพิธีสำคัญตอนนี้อย่างเหมาะเจาะ และสัมพันธ์กับสถานที่และเหตุการณ์อย่างสวยงาม นอกจากนี้การที่ไม่ปรากฎภาพองค์พระอินทร์ในจิตรกรรม มีเพียงแท่นที่ประทับเปล่าๆ เท่านั้น ก็น่าจะเป็นไปเพื่อต้องการเชื่อมโยงว่าพระอินทร์ก็คือพระมหากษัตริย์ที่ประทับอยู่เบื้องหน้าภาพจิตรกรรมนั้นนั่นเอง





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้