อุโมงค์วิปัสสนาที่เชียงใหม่ หนึ่งเดียวในเมืองไทย

อุโมงค์วิปัสสนาที่เชียงใหม่ หนึ่งเดียวในเมืองไทย

อุโมงค์วิปัสสนาที่เชียงใหม่ หนึ่งเดียวในเมืองไทย
                ที่เมืองเชียงใหม่มีวัดสำคัญแห่งหนึ่งคือ วัดอุโมงค์ วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบริเวณที่เดิมจัดเป็นเขตอรัญวาสี หรือเขตวัดป่า เชิงดอยสุเทพ
                วัดป่าแห่งนี้มีโบราณสถานสำคัญคือ เจดีย์ทรงกลม ซึ่งถือเป็นเจดีย์ทรงกลมรุ่นแรกๆ ของเมืองเชียงใหม่ และน่าจะเป็นต้นแบบให้แก่เจดีย์ทรงกลมองค์อื่นๆ ของล้านนาในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ “อุโมงค์” ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่วิปัสสนาของพระป่า และยังเป็นที่มาของชื่อวัดแห่งนี้ด้วย
                อ.สุรชัย จงจิตงาม อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าไว้ในหนังสือเรื่อง “ล้านนา art & culture” ว่า อุโมงค์แห่งนี้สร้างขึ้นบนพื้นที่ขนาดใหญ่ ด้านบนอุโมงค์สร้างเป็นเจดีย์ทรงกลมเก่าแก่ ตัวอุโมงค์เจาะเป็นช่องโค้ง ลึก ยาว มีหลายช่อง ภายในมีช่องใช้วางประทีป เพื่อให้แสงสว่าง และที่ผนังวาดภาพจิตรกรรมลวดลายธรรมชาติ เช่น ภาพนก ดอกไม้ ใบไม้ ซึ่งเป็นลวดลายมงคลที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะจีน และถือได้ว่าจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้เป็นภาพวาดเก่าแก่ที่สุดของล้านนาที่ยังหลงเหลืออยู่
                ส่วนการสร้างอุโมงค์ที่วัดแห่งนี้นั้น อ.สุรชัย อธิบายว่า น่าจะมีที่มาจากคติการขุดเจาะผนังผาให้เป็นถ้ำที่นิยมในอินเดีย เพื่อใช้เป็นพุทธสถาน ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่เงียบสงบสำหรับปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี ต่อมาคตินี้ได้แพร่หลายมายังพม่าและสืบต่อมาที่เชียงใหม่ในที่สุด แต่ได้ปรับเปลี่ยนจากการขุดเจาะผนังผา มาเป็นการสร้าง “ถ้ำจำลอง” คล้าย “อุโมงค์” ด้วยการก่ออิฐถือปูนแทน ซึ่งถือเป็นอุโมงค์พุทธสถานเพียงแห่งเดียวของประเทศที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์
สามารถอ่านรายละเอียดเรื่องนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ อีก ได้ใน “ล้านนา art & culture” เขียนโดย อ.สุรชัย จงจิตงาม ผลิตโดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้