แกะรอย พระคาถาใต้ “ตราแผ่นดิน” เรื่องความสามัคคี

แกะรอย พระคาถาใต้ “ตราแผ่นดิน” เรื่องความสามัคคี

แกะรอย พระคาถาใต้ “ตราแผ่นดิน” เรื่องความสามัคคี
         งานพระนิพนธ์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(สา ปุสฺสเทโว) พระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีอยู่มากมายหลายชิ้น แต่ชิ้นหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักกันคือ พระคาถาซึ่งปรากฏอยู่ใต้ตราแผ่นดิน หรือ “ตราอาร์ม” ในสมัยรัชกาลที่ 5
                 พระคาถานี้เขียนอยู่ในแถบที่มีรูปร่างเลียนแบบผ้าแพร คาดอยู่ใต้ตราแผ่นดิน เขียนเป็นภาษาบาลีว่า “สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา” แปลว่า “ความเป็นผู้พร้อมเพรียงแห่งชนผู้เป็นหมู่แล้วทั้งหลายทั้งปวงให้ความเจริญสำเร็จ”
                นนทพร อยู่มั่งมี อธิบายไว้ในหนังสือ “พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(สา ปุสฺสเทโว) ว่า พระคาถานี้สมเด็จพระสังฆราช(สา) ได้ทรงนิพนธ์ถวายเพื่อฉลองพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งแสดงถึงความไว้วางพระราชหฤทัยที่มีต่อสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้
                นนทพร อธิบายว่า พระคาถานี้ เกิดขึ้นในช่วงที่สยามเกิดการเปลี่ยนแปลงนานาประการ ที่สำคัญประการหนึ่งคือ เกิดการตื่นตัวในเรื่องการเมืองการปกครอง จนทำให้มีกระแสของการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ประชาธิปไตย ดังจะเห็นจากการที่มีคณะบุคคล ซึ่งนำโดยเจ้านายชั้นสูง เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียใหม่ในพ.ศ. 2428 ซึ่งก่อให้เกิดความเห็นแตกต่างทางการเมือง
                ต่อประเด็นความขัดแย้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชนิพนธ์เรื่อง “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยเรื่องความสามัคคี” ขึ้น ความตอนหนึ่งว่า
“...คาถานี้เป็นคาถาซึ่งจารึกในอามแผ่นดิน เป็นคาถาที่ว่าทั่วไปในหมู่ทั้งปวง...ไม่ว่าถึงคนทั้งปวง ซึ่งเป็นหมู่ใหญ่ทั่วไป ยกเอาพวกที่เป็นผู้รับราชการ เป็นผู้ปกครองรักษาและเป็นผู้ทำนุบำรุงบ้านเมือง จะประพฤติอย่างไร จึงจะเป็นการสมควรถูกต้องด้วยคาถาสุภาษิตนี้ และจะได้รับความเจริญตามคาถาสุภาษิตนี้....”
“...ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านผู้ซึ่งมีความคิดอยู่ปลายทั้งสองฝ่าย ควรจะลดหย่อนความคิดเห็นของตน ร่นลงมาให้อยู่ตรงกลาง ผู้จะจัดการบ้านเมืองตามเวลาที่สมควรจะสำเร็จตลอดไปได้ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกิดความสามัคคี พร้อมเพรียงกันในอย่างกลางนี้แล้ว จะเป็นผลให้การทั้งปวงสำเร็จตลอดไปได้ ดีกว่าที่จัดอยู่หัว อยู่ท้ายนั้นมาก...”
สามารถอ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในหนังสือ “พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(สา  ปุสฺสเทโว)” เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี จัดพิมพ์โดย วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม  แจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐฯ ติดต่อสอบถามได้ที่กองงานบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐฯ โทร 02-6221030 , 086-5117234

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้