ทำไมเลือกสร้าง "พระปรางค์วัดอรุณ" ขึ้นที่นี่?

ทำไมเลือกสร้าง "พระปรางค์วัดอรุณ" ขึ้นที่นี่?

ทำไมเลือกสร้าง "พระปรางค์วัดอรุณ" ขึ้นที่นี่?
                พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม ธนบุรี หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “พระปรางค์วัดอรุณ” คือพระมหาธาตุเจดีย์ประจำกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยสร้างครอบพระปรางค์องค์เดิมที่คาดว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
                ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง “๕ มหาเจดีย์สยาม” สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส ว่าน่าพิจารณาอย่างยิ่งว่าเหตุใดในสมัยนั้น รัชกาลที่ ๒ จึงตัดสินพระทัยทรงเลือกสร้าง “พระมหาธาตุประจำพระนคร”องค์นี้ขึ้น ณ บริเวณนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ทั้งๆ ที่ธรรมเนียมที่มีมาก่อนหน้านั้น มักเลือกสร้างพระมหาธาตุประจำพระนครไว้ที่กึ่งกลางเมือง
                ดร.ประภัสสร์ ได้อธิบายว่า ปัญหาที่น่าคิดดังกล่าวนี้ อาจจะพอสันนิษฐานคำตอบได้ออกเป็น ๔ ประการคือ
                ๑. พระปรางค์องค์ดั้งเดิมที่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา อาจเป็นพระปรางค์ที่มีความสำคัญและได้รับการเคารพนับถือสืบเนื่องมาเนิ่นนานแล้ว ดังนั้นการสร้างพระปรางค์องค์ใหม่ครอบทับองค์ดั้งเดิมที่มีความสำคัญมาแต่เดิมนี้ จึงเป็นการสืบต่อความเป็นศูนย์กลางความศรัทธาดังกล่าวให้มีต่อเนื่องไป
                ๒. อาจกล่าวได้ว่า ความเป็นเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะขอบเขตภายในกำแพงพระนครกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ในยุคนั้น ความเป็นเมืองยังได้กินขอบเขตไปถึงพื้นที่ด้านตะวันตกของพระนคร หรือที่เรียกกันว่า “ฝั่งธนบุรี” ด้วย เนื่องจากในพื้นที่ฝั่งธนบุรีถือเป็นชุมชนย่านที่อยู่อาศัยสำคัญของไพร่บ้านพลเมือง รวมไปถึงชนชั้นนำด้วย ดังนั้นการสร้างพระปรางค์ขึ้นที่นี่ จึงเป็นการตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพื้นที่ของชาวบ้าน ฝั่งธนบุรี กับชาววัง ในพระบรมมหาราชวัง หรือเป็น “ศูนย์กลาง” ที่แท้จริง โดยไม่เกี่ยวข้องกับกำแพงพระนคร
                ๓. พระปรางค์วัดอรุณตั้งอยู่ตรงปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีทำเลที่ตั้งอันโดดเด่น กลางสามแยกชุมทางการคมนาคมขนาดใหญ่ของพระนคร นั่นคือ แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเส้นทางขึ้นเหนือล่องใต้ ส่วนคลองบางกอกใหญ่ เป็นเส้นทางที่ออกทะเลได้อีกทางหนึ่ง และยังเป็นเส้นทางสำคัญที่ใช้เดินทางไปยังหัวเมืองตะวันตก ซึ่งในเวลานั้นเป็นแหล่งปลูกอ้อยและโรงงานทำน้ำตาล อันเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ของกรุงเทพฯ ดังนั้นการสร้างพระปรางค์ขึ้นตรงจุดนี้ จึงเป็นการสร้างบนเส้นทางคมนาคมที่คนพลุกพล่านสามารถเห็นได้มาก ถือเป็นการร้อยรวมจิตใจของผู้คนในย่านนี้และผู้คนที่สัญจรไปมาเข้าไว้ด้วยกัน
                ๔. อาจเป็นการเลียนแบบมาจากวัดไชยวัฒนาราม อยุธยา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันหลายประการ เนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ต่างมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างภูมิสถานต่างๆ ให้คล้ายกับที่เคยมีมาในอยุธยา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้