เจดีย์ห่าน กลางเมืองซีอาน เดิมเป็นสถูปทรงกลม?

เจดีย์ห่าน กลางเมืองซีอาน เดิมเป็นสถูปทรงกลม?

เจดีย์ห่าน กลางเมืองซีอาน เดิมเป็นสถูปทรงกลม?
                เมืองซีอาน อดีตเมืองหลวงของจีน มีโบราณสถานสำคัญกลางเมืองแห่งหนึ่งคือ เจดีย์วัดฉือเอิน ที่มีประวัติว่า “พระถังซัมจั๋ง” สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและคัมภีร์ต่างๆ ที่ท่านนำมาจากอินเดีย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒
            ปัจจุบันเจดีย์องค์นี้มีรูปทรงเป็นอาคารซ้อนชั้นตามแบบจีน ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดจากการบูรณะครั้งใหญ่ ชนิดที่ต้องรื้อสถูปเดิมที่พังทลายลง แล้วสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔
                ชื่อของเจดีย์องค์นี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกหลังจากการบูรณะครั้งใหญ่ดังกล่าว โดยพบอยู่ในบทกวี ซึ่งเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า “เจดีย์ห่าน” หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “เยี่ยนถะ” พร้อมกับมีตำนานอธิบายความเป็นมา ที่มีเรื่องราวอย่างเดียวกับ “เจดีย์หงส์” ในอินเดีย ซึ่งถูกเล่าไว้ในบันทึกของพระถังซัมจั๋ง แต่ที่นี่ได้เปลี่ยนให้เป็นเรื่องของห่านแทน
            ในตำนานเล่าว่าเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงห่านที่ทิ้งตัวจากท้องฟ้าลงมาตาย เพื่อให้พระสงฆ์นำเนื้อไปฉันเป็นอาหาร แต่สุดท้ายพวกท่านก็ได้สร้างเจดีย์ครอบร่างห่านตัวนี้ไว้
            แต่เดิมเชื่อกันว่าเจดีย์แห่งนี้คงบูรณะขึ้นใหม่ ด้วยการยังคงยึดถือเค้าโครงรูปแบบดั้งเดิมของเจดีย์เมื่อแรกสร้างไว้ ซึ่งสร้างขึ้นเป็นอาคารซ้อนชั้น และสามารถเข้าไปภายในได้ โดยบางท่านสันนิษฐานว่าอาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิหารพุทธคยาของอินเดีย
            อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช แห่งคณะโบราณคดี ได้มีข้อเสนอใหม่ว่า รูปแบบดั้งเดิมของเจดีย์องค์นี้อาจเป็นสถูปทรงกลมก็เป็นได้
            โดย ดร.อชิรัชญ์ ได้ศึกษาหลักฐานจากบันทึกของลูกศิษย์ของพระถังซัมจั๋ง ซึ่งน่าจะเคยเห็นเจดีย์องค์ดั้งเดิมและทราบที่มาของการสร้างเป็นอย่างดี ได้บันทึกไว้ว่า เจดีย์องค์นี้เมื่อแรกสร้าง สร้างขึ้นด้วยการ “เลียนระเบียบตะวันตก” ซึ่งหมายถึง “เลียนแบบสถาปัตยกรรมอินเดีย” ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของจีน รวมทั้งยังเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า “ฝูถู” (ถะ)  ที่หมายถึง “สถูปทรงกลม” ซึ่งน่าจะเรียกขานกันมาตั้งแต่แรกสร้างตั้งแต่สมัยพระถังซัมจั๋งแล้ว
                 นอกจากนี้ในบันทึกของพระถังซัมจั๋ง ยังแสดงให้เห็นว่า ท่านมีความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงสถาปัตยกรรมแบบต่างๆ ที่ได้เห็นในอินเดีย โดยในบันทึกท่านได้เรียก “สถูปทรงกลม” ว่า “ซูตูป่อ” (ฝูถู,ถะ) และเรียกอาคารกลางแจ้งที่คนสามารถเข้าไปภายในได้ อย่างเช่น วิหารพุทธคยาว่า “จิงเซ่อ”
            ดังนั้นจากบันทึกที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจถึงสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนของพระถังซัมจั๋งดังกล่าวนี้ จึงทำให้มีความเป็นไปได้ว่า เจดีย์ห่านองค์ดั้งเดิมน่าจะเป็นสถูปทรงกลม ตามบันทึกของลูกศิษย์พระถังซัมจั๋งที่เคยเรียกขาน  โดยหลังจากมีการบูรณะครั้งใหญ่เปลี่ยนรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบันแล้ว ก็ยังคงใช้คำเรียกขานว่า “ถะ” (สถูป) เหมือนเดิมเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
             ส่วนรูปทรงเจดีย์ในปัจจุบัน ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับเจดีย์พุทธคยานั้น ดร.อชิรัชญ์อธิบายว่า น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาคารซ้อนชั้นที่สร้างด้วยเครื่องไม้แบบจีนนั่นเอง
 
อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ใน
อ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. “จากจาริกสู่งานศิลปกรรม: พุทธศิลป์จีนอันเกี่ยวเนื่องกับการแสวงบุญของท่านถังเสวี้ยนจั้ง” ใน ความคิด ความหมาย ความเชื่อ ของการจาริกยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เอกสารประกอบโครงการเสวนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ “จาริกแสวงบุญ: เหตุต้น-ผลตามในศิลปวัฒนธรรมไทยและเพื่อนบ้าน” ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๖.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้