อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย “สร้างให้จำ” วันที่ ๒๔ มิ.ย. ๒๔๗๕

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย “สร้างให้จำ” วันที่ ๒๔ มิ.ย. ๒๔๗๕

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย “สร้างให้จำ” วันที่ ๒๔ มิ.ย. ๒๔๗๕
            ไม่กี่ปีก่อนเคยมีผู้กล่าวว่า การสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นสิ่งไม่เป็นมงคล โดยอ้างว่าตามปกติแล้วการสร้างอนุสาวรีย์เป็นการสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสิ่งที่สูญสิ้นไปแล้ว ทำให้ประชาธิปไตยไทยจึงยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงเสียที
            แต่ผู้รู้บางท่านให้ทัศนะถึงความหมายของอนุสาวรีย์ว่า แม้จะดูเหมือนว่าอนุสาวรีย์มักสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสิ่งที่ตายไปแล้ว แต่แท้จริงแล้วการสร้างอนุสาวรีย์กลับเป็นการทำสิ่งเหล่านั้น “ไม่ให้ตาย” และยังตราตรึงตอกย้ำ ทำให้คนรุ่นหลังระลึกถึง และจำสืบต่อมานานเท่านานมากกว่า เพียงแต่ว่าคนรุ่นหลังเลือกที่จะตอกย้ำ สร้างให้จำ หรือ พยายามทำให้ลืม เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ตกอยู่ในเส้นทางเดินนี้เหมือนกัน
            มาลินี คุ้มสุภา ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กับความหมายที่มองไม่เห็น” ผลิตโดยสำนักพิมพ์วิภาษา อธิบายไว้ว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทำพิธีเปิดเมื่อ ๒๔ มิ.ย. พ.ศ.๒๔๘๓ในยุครัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะราษฎร ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อให้เป็นสิ่งระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ ๒๔ มิ.ย. ๒๔๗๕ โดยจุดแรกเริ่มของการดำริที่จะก่อสร้างเกิดขึ้นจาก พลเอกพิชเยนทรโยธิน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสนอให้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่คณะราษฎร แต่ในเบื้องต้นรัฐบาลไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะถูกครหาว่าทำเพื่อเชิดชูคณะของตนเอง โดยในเวลาต่อมาได้มีการนำแนวคิดนี้มาปรับปรุงใหม่ โดยมีการเสนอให้จัดสร้างอนุสาวรีย์ที่ไม่เน้นที่ตัวบุคคล แต่เน้นให้ระลึกถึงความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครองแทน ดังนั้นอนุสาวรีย์แห่งนี้จึงสร้างขึ้นเป็นรูปสัญลักษณ์แทนรูปบุคคล โดยตัวเลขของขนาด สัดส่วน และจำนวนของสิ่งต่างๆ ในอนุสาวรีย์ล้วนสื่อถึงวันที่ ๒๔ มิ.ย. ๒๔๗๕ และหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร
            ในระยะแรกหลังจากการเปิดอนุสาวรีย์ คณะรัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่ ซึ่งสืบสายมาจากคณะราษฎร ก็ได้มีการขับเน้นให้เห็นถึงความสำคัญและความหมายของอนุสาวรีย์แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น มีการจัดงานวันชาติที่บริเวณอนุสาวรีย์ หรือมีการจัดสวนสนามของกองทัพบกบนถนนราชดำเนิน โดยมีแท่นปะรำอยู่บนลานอนุสาวรีย์ อย่างไรก็ตามหลังจากได้มีคณะรัฐบาลชุดใหม่ ในทศวรรษ ๒๕๐๐ ซึ่งถือเป็นขั้วอำนาจใหม่ที่ไม่มีความสืบเนื่องมาจากคณะราษฎร อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็เริ่มถูกลดความสำคัญลง พร้อมกับมีการยกเลิกวันชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๔ มิ.ย.๒๔๗๕ ด้วย
            อย่างไรก็ตามในราว ๔๐ ปีที่ผ่านมา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นด้วยการถูกใช้เป็นลานชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งในบางครั้งยังมีการพยายามรื้อฟื้นให้เห็นถึงความสำคัญของวันที่ ๒๔ มิ.ย.๒๔๗๕ ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย
                                                                       

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้