ศิวลึงค์+โยนิ ที่เขาพระวิหาร สร้างแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์

ศิวลึงค์+โยนิ ที่เขาพระวิหาร สร้างแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์

ศิวลึงค์+โยนิ ที่เขาพระวิหาร สร้างแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์
            จากการศึกษาของนักโบราณคดีพบว่า ปราสาทพระวิหารเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ และคงมีการก่อสร้างบูรณะต่อเติมเรื่อยมาอีกหลายสมัย
            ศิลปกรรมที่เหลือให้เห็นในปัจจุบัน คาดว่าเป็นผลจากการบูรณะในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ กระทั่งต่อมาในสมัยอยุธยา แม้จะมีเอกสารโบราณจะกล่าวถึงผู้คนในแถบนี้ ในฐานะที่เป็นกลุ่มคนที่ต้องส่งส่วยช้างถวายกษัตริย์อยุธยาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงปราสาทพระวิหารเลย จึงสันนิษฐานว่าในสมัยอยุธยาปราสาทแห่งนี้น่าจะถูกทิ้งร้างไปแล้ว
            นักโบราณคดี พบว่าที่เขาพระวิหารแห่งนี้ ช่างโบราณได้ออกแบบให้ศาสนสถานบนเขามีความเชื่อมโยงกับชุมชนด้านล่าง โดยใช้ความศักดิ์สิทธิ์เชื่อมโยงร้อยรัดชุมชนกับศาสนสถานเข้าด้วยกัน นั่นคือมีการสลักรูป “สนาณะโยนิ” เป็นรูปวงกลมในกรอบสี่เหลี่ยม ซึ่งจำลองมาจากรูปแท่งศิวลึงค์ที่ตั้งอยู่บนฐานโยนิ ไว้ตรงบริเวณลานหินริมลำห้วยที่ไหลผ่านทางด้านหน้าบันไดทางขึ้นไปยังศาสนสถาน เมื่อน้ำหลากก็จะไหลผ่านรูปสลัก ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แทนเทพเจ้าแห่งนี้ ก็จะแปรสภาพกลายเป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” แล้วไหลต่อลงไปยัง “สระตราว” ที่สร้างขึ้นอยู่ด้านล่าง เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำหรับศาสนสถานและชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ
            ดังนั้นสระตราวจึงกลายเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมให้เกิดความเคารพและให้ความสำคัญในการดูแลรักษาแหล่งน้ำของชุมชน รวมถึงส่งผลทางจิตใจต่อชุมชนผู้ใช้น้ำอีกด้วย
            วิธีการเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้กับแหล่งน้ำเช่นนี้ พบได้ทั่วไปในศาสนสถานเขมร  เช่นที่ “กระบาลสะเบรียง” บนเขาพนมกุเลน ในกัมพูชานั่นเอง
 
อ่านรายละเอียดเรื่องปราสาทพระวิหารเพิ่มเติมได้ใน
ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะและโบราณคดีปราสาทพระวิหาร ศรีศิขเรศวร ปราสาทพระวิหาร. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๖.





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้