คติ "โพธิบัลลังก์" ที่มา "โบสถ์-ศูนย์กลางของวัดสมัยอยุธยาตอนปลาย"

คติ "โพธิบัลลังก์" ที่มา "โบสถ์-ศูนย์กลางของวัดสมัยอยุธยาตอนปลาย"

คติ “โพธิบัลลังก์” ที่มา “โบสถ์-ศูนย์กลางของวัดสมัยอยุธยาตอนปลาย”
            อ.พิชญา สุ่มจินดา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสนอข้อคิดที่น่าสนใจไว้ในการบรรยายเรื่อง “มหาโพธิบัลลังก์กับคติจักรวาลที่เปลี่ยนไปในอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม” เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2556 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ ร่วมกับ มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์
           ข้อเสนอดังกล่าว พอสรุปเป็นประเด็นที่น่าสนใจได้ดังนี้
          
          -การที่พระประธานของวัดเกาะ เพชรบุรี ตั้งอยู่ทางด้านผนังที่วาดจิตรกรรมเรื่องมารผจญ ขณะที่ผนังด้านหน้ากลับวาดเรื่องจักรวาล ซึ่งเป็นการสลับตำแหน่งผิดไปจากคติการวาดที่นิยมทั่วไปนั้น ทำให้เคยมีผู้เสนอว่า อาจเคยมีการย้ายสลับตำแหน่งที่ตั้งพระประธาน เพื่อปรับทิศการหันด้านหน้าวัดใหม่ตามเส้นทางสัญจรใหม่ แต่ อ.พิชญาไม่เชื่อเช่นนั้น กลับเห็นว่าพระประธานนั้นน่าจะตั้งอยู่ที่เดิมมาแต่ต้น เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับลำดับก่อนหลังของจิตรกรรมฝาผนัง
       
         -การเปลี่ยนแปลงทางด้านแผนผังของวัดที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งพบในสมัยอยุธยาตอนปลายก็คือ การลดความสำคัญของพระธาตุเจดีย์หรือพระปรางค์ลง แต่กลับมาให้ความสำคัญกับพระอุโบสถให้เป็นศูนย์กลางของวัดแทนนั้น อ.พิชญา เสนอว่าที่เป็นเช่นนี้อาจมีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงการให้ความสำคัญกับคติทางพุทธศาสนา จากเดิมที่ให้น้ำหนักกับเรื่องเขาพระสุเมรุ เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับเรื่อง “โพธิบัลลังก์” ที่ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ อันถือเสมือนเป็น “ศีรษะแผ่นดิน”ศูนย์กลางของชมพูทวีป ซึ่งถือเป็นจุดที่แผ่นดินโผล่กำเนิดขึ้นก่อนแผ่นดินทั้งมวลและจะสูญสลายเป็นที่สุดท้าย โดยช่างโบราณได้กำหนดให้พระประธานในอุโบสถ เปรียบเสมือนพระพุทธเจ้ากำลังประทับตรัสรู้บนโพธิบัลลังก์ ซึ่งมักสอดรับกับความนิยมในการทำพระประธานเป็นปางสมาธิ คติการให้ความสำคัญต่ออุโบสถในสมัยอยุธยาตอนปลายเช่นนี้ ได้สืบทอดต่อมาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ดังเห็นได้ที่วัดพระแก้ว วัดโพธิ์
 
        -จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ วัดเกาะ เพชรบุรี แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ช่างโบราณตั้งใจจะจำลองให้อุโบสถเปรียบเป็นชมพูทวีป โดยสมมุติให้พระประธานสื่อถึงพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ ณ โพธิบัลลังก์
สามารถอ่านบทความเรื่องนี้ของ อ.พิชญา สุ่มจินดา ได้ โดยคลิกที่นี่ http://www.piriyafoundation.com/wp-content/uploads/2013/20130418-8-1.pdf 
หรือ ดูคลิปการบรรยายที่นี่ (เริ่มบรรยายตั้งแต่เวลาในคลิปที่ 1.04.00 เป็นต้นไป)


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้