ภาพสลัก “บาตร” สะท้อนความเชี่อ “ลัทธิบูชาบาตร” ในยุคคันธาระ

ภาพสลัก “บาตร” สะท้อนความเชี่อ “ลัทธิบูชาบาตร” ในยุคคันธาระ

ภาพสลัก “บาตร” สะท้อนความเชี่อ “ลัทธิบูชาบาตร” ในยุคคันธาระ
            หลังจากตรัสรู้ได้ ๗ สัปดาห์ พุทธประวัติหลายสำนวนกล่าวว่า พ่อค้าสองพี่น้องได้ร่วมกันถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ทรงคำนึงว่าควรใช้บาตรในการรับอาหาร ดังนั้นจตุโลกบาล ๔ องค์ ผู้ดูแลทิศทั้งสี่ของจักรวาล จึงต่างนำบาตรมาถวายให้พระองค์
 

  • คัมภีร์วินัยปิฎกของนิกายมูลสรรวสติวาส และคัมภีร์จตุษปริษัท กล่าวตรงกันว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงรับบาตรทั้งสี่ใบแล้ว ทรงนำมารวมให้กลายเป็นใบเดียว
  • คัมภีร์มหาวัสดุ และคัมภีร์ลลิตวิสตระ กล่าวเหมือนกันว่าจตุโลกบาลได้ถวายบาตรที่ทำจากวัสดุมีค่าต่างๆ หลายครั้ง เช่น ทำจากทองคำ เงิน ไข่มุก แก้วผลึก ปะการังขาว ทับทิม ฯลฯ แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ คัมภีร์ลลิตวิสตระอธิบายว่าพระพุทธเจ้าทรงระลึกว่าพระอดีตพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงใช้แต่บาตรศิลา ดังนั้นจตุโลกบาลจึงพากันไปขอศิลาจากเทพที่มีพระนามว่า “ไวโรจนะ” ซึ่งจะทรงมอบศิลานี้ให้พระพุทธเจ้าที่มีพระนามว่า “ศรีศากยมุนี” เท่านั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงรับบาตรศิลาทั้งสี่ใบแล้ว ทรงรวมให้เป็นใบเดียว
  • คัมภีร์สมันตปาสาทิกา และคัมภีร์นิทานกถา กล่าวว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธบาตรที่ทำจากหินเลื่อมพราย จตุโลกบาลจึงถวายบาตรที่ทำจากศิลาเขียวธรรมดาๆ ให้แทน
  • ส่วนคัมภีร์ที่แต่งในประเทศไทย กล่าวถึงการถวายบาตรเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
            เมื่อเริ่มมีการสร้างงานพุทธศิลป์ในสมัยอินเดียโบราณ เรื่องราวพุทธประวัติถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น และยิ่งพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองได้รับการนับถือกว้างขวางออกไป ก็ยิ่งมีการสร้างสรรค์เรื่องราวและรูปแบบงานศิลปกรรมแบบต่างๆ มากขึ้นไปอีก
            เฉพาะศิลปะคันธาระ (พุทธศตวรรษที่ ๖-๗) ซึ่งรุ่งเรืองอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย แพร่หลายถึงอัฟกานิสถาน ปากีสถาน บางส่วนของอิหร่านและอุซเบกิสถาน มีการสร้างพระพุทธเจ้าเป็นรูปบุคคลเป็นครั้งแรก โดยรับอิทธิพลจากศิลปะกรีกโรมัน แต่ที่น่าสนใจคือแม้ศิลปะคันธาระจะถ่ายทอดเรื่องราวในพุทธประวัติไว้หลายตอน แต่พบว่าตอนจตุโลกบาลถวายบาตร นิยมสร้างขึ้นมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นภาพสลักที่หน้าบันของอาคาร ภาพสลักที่ฐานสถูป เป็นต้น  ซึ่งบางแห่งเลือกที่จะแสดงเหตุการณ์นี้เพียงตอนเดียวด้วย
            ผศ. ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี ได้ค้นคว้าบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน ที่เดินทางจากจีนไปศึกษาพุทธศาสนาที่อินเดียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ซึ่งท่านได้กล่าวถึงวัดแห่งหนึ่งในเมืองปุรุษปุระ (ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน แต่ในอดีตเป็นเมืองหลวงที่มีอำนาจครอบคลุมไปถึงอิหร่าน อัฟกานิสถาน เติร์กเมนิสถาน และบางส่วนของอินเดีย)
            ในบันทึกท่านได้กล่าวถึงวัดแห่งนี้ว่าเป็นวัดใหญ่ ตั้งอยู่กลางเมือง มีพระสงฆ์อยู่ราว ๗๐๐ รูป และที่สำคัญยังเป็นที่ประดิษฐาน “บาตร” ของพระพุทธเจ้า และมีการจัดพิธีบูชาบาตร ด้วยการอัญเชิญออกมาให้ประชาชนสักการะด้วย (S. Beal, Travels of Fa-Hian and Sung-Yang: Buddhist Pilgrims from China to India (London: Susil Gupta, 1967), pp. 36-38.)
            นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของบาตร เล่าว่าเมื่อกษัตริย์ต่างเมืองพยายามเข้ามาแย่งชิงบาตร ก็เกิดปาฏิหาริย์ไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกไปได้ แสดงให้เห็นความผูกพันระหว่างเมืองนี้กับบาตรของพระพุทธองค์อย่างแนบแน่นอีกด้วย
            ลักษณะของบาตร กล่าวว่าเป็นสีดำ มีสี่ตะเข็บ ซึ่งแม้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่านี่เป็นบาตรของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ แต่ร่องรอยของตะเข็บทั้งสี่นี้ สะท้อนความพยายามในการเชื่อมโยงให้สอดรับกับเรื่องราวในพุทธประวัติ ที่กล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงรวมให้บาตร ๔ ใบให้กลายเป็นใบเดียว
            ด้วยเหตุนี้จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า “ลัทธิบูชาบาตร” คงเกี่ยวข้องกับความนิยมสร้างศิลปกรรมรูปบูชาบาตร รวมทั้งภาพสลักเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนถวายบาตรอย่างมากมายนั่นเอง
  
อ้างอิง
  • Chedha Tingsanchali. Saptamahasthana: Concepts and the modes of depiction in Indian and Southeast  Asia art (Ph.d. History of Art-National Museum Institute of History of Art, Deemed University, 2006).
  • Truepanya.muslimthaipost.com
  • indiancivilize.blogspot.com




















ภาพที่ ๑ ภาพสลักพบที่อัฟกานิสถาน ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับจาก Ms. Yano Tsuruko ภาพสลักส่วนที่โดดเด่นที่สุด คือภาพตรงกลางซึ่งน่าจะเป็นการอัญเชิญบาตรของพระพุทธเจ้าขึ้นไปประดิษฐานบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนบุคคลขนาดใหญ่ทั้งสองข้าง สันนิษฐานว่าเป็นพระศรีอาริยเมตไตรย ขณะเป็นพระโพธิสัตว์ประทับอยู่บนสวรรค์



















ภาพที่ ๒ รายละเอียดของภาพ มีการตีความกันว่าผู้อัญเชิญบาตรเป็นผู้ศรัทธาชาวกุษาณะ ซึ่งอาจพิจารณาจากลักษณะการแต่งกาย โดยชาวกุษาณะเป็นชนเผ่าที่เข้ามารุกรานและปกครองบริเวณตอนเหนือของอินเดีย กระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ ๗ จึงมีกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่คือพระเจ้ากนิษกะ ทรงครองเมืองปุรุษปุระ สมัยของพระองค์มีความเจริญทางศิลปะวิทยาการต่างๆ มาก โดยเฉพาะทางด้านศาสนา และพระองค์ทรงนับถือพุทธศาสนามหายาน 
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้