พระบรมธาตุ กำแพงเพชร เดิมเป็น “เจดีย์ 3 องค์” คล้ายวัดพระศรีสรรเพชญ์

พระบรมธาตุ กำแพงเพชร เดิมเป็น “เจดีย์ 3 องค์” คล้ายวัดพระศรีสรรเพชญ์

พระบรมธาตุ กำแพงเพชร เดิมเป็น “เจดีย์ 3 องค์” คล้ายวัดพระศรีสรรเพชญ์
     ภายในวัดพระบรมธาตุ จ.กำแพงเพชร มีพระเจดีย์สำคัญตั้งอยู่ 1 องค์ ปัจจุบันนิยมเรียกว่า “พระบรมธาตุนครชุม” เป็นเจดีย์ทรงมอญพม่าขนาดใหญ่ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยง คือ พญาตะก่า และพะโป้
     อ.ธีระวัฒน์ แสนคำ อธิบายไว้ในหนังสือ พระบรมธาตุนครชุมฯ ว่า เจดีย์แบบมอญพม่าองค์นี้ สร้างขึ้นแทนเจดีย์องค์เดิมที่ถูกรื้อทิ้งไป ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพญาลิไท แห่งแคว้นสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.1900 บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองลังกา โดยมีบันทึกเล่าอยู่ในจารึกสมัยสุโขทัย อย่างไรก็ตามมีหลักฐานว่าเจดีย์องค์ดั้งเดิมที่ถูกรื้อทิ้งไปนั้น มีจำนวน 3 องค์
     ในบันทึกสมัยรัชกาลที่ 5 ระบุว่าเจดีย์ 3 องค์นี้ตั้งเรียงอยู่ด้านหลังวิหาร เรียงไปตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน และมีบางองค์เป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมแบบสุโขทัย
     สำหรับเจดีย์องค์ดั้งเดิมทั้ง 3 องค์นี้ อ.ธีระวัฒน์ สันนิษฐานว่าเจดีย์ทั้งหมดนี้ น่าจะไม่ได้สร้างขึ้นในคราวเดียว โดยเมื่อแรกเริ่ม คงสร้างเจดีย์ทรงดอกบัวตูมขึ้นในสมัยพญาลิไทก่อน ต่อมาในพ.ศ.2053 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งอยุธยา พระยาศรีธรรมโศกราช เจ้าเมืองกำแพงเพชร คงสร้างเจดีย์เพิ่มเติมขนาบไว้ทั้งสองข้าง เนื่องจากเคยพบจารึกลานทองในองค์เจดีย์ กล่าวถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ซึ่งตรงกับชื่อพระยาศรีธรรมโศกราช ที่ถูกจารึกอยู่บนฐานเทวรูปพระอิศวรที่พบในเมืองกำแพงเพชร ซึ่งได้กล่าวว่าได้สร้างเทวรูปและซ่อมแปลงพระมหาธาตุในพ.ศ.2053 โดยเจดีย์ 2 องค์ที่สร้างเพิ่มเติมขึ้นนี้ อาจจะเป็นเจดีย์ทรงกลมตามแบบที่นิยมในอยุธยา
     น่าสังเกตว่า แผนผังการวางตำแหน่งเจดีย์เรียงกัน 3 องค์เช่นนี้ เหมือนกับเจดีย์ 3 องค์วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา ซึ่งยังไม่มีความแน่ชัดว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร หรือไม่
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้ใน หนังสือ พระบรมธาตุนครชุม พระบรมธาตุเจดีย์แห่งลุ่มน้ำปิงตอนล่าง โดย ธีระวัฒน์ แสนคำ อาจารย์ประจำหน่วยวิทยบริการ วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ณ วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดพิมพ์โดย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โทร.055-738355

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้