เจดีย์ 3 องค์วัดพระศรีสรรเพชญ์ บรรจุ พระธาตุพระพุทธเจ้า และ กษัตริย์อีก 2 พระองค์?

เจดีย์ 3 องค์วัดพระศรีสรรเพชญ์ บรรจุ พระธาตุพระพุทธเจ้า และ กษัตริย์อีก 2 พระองค์?

เจดีย์ 3 องค์วัดพระศรีสรรเพชญ์ สร้างขึ้นพร้อมกัน
บรรจุ พระธาตุพระพุทธเจ้า และ กษัตริย์อีก 2 พระองค์?

              วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดประจำพระราชวังหลวง กรุงศรีอยุธยา ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างสำคัญและโดดเด่น นั่นคือ เจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกาตั้งเรียงกันจำนวน 3 องค์ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาถกเถียงกันว่า เจดีย์ทั้ง 3 องค์นี้ สร้างขึ้นเมื่อใดแน่ และสร้างขึ้นพร้อมกันในคราวเดียวกันหรือไม่
              ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อธิบายว่า วัดแห่งนี้เดิมเป็นพระราชวังหลวง แต่ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้มีการขยับเลื่อนพระราชวังขึ้นไปทางเหนือ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ยกพื้นที่ตั้งเดิมของพระราชวังขึ้นเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยพงศาวดารไม่ได้ระบุว่าการสถาปนาวัดในรัชสมัยนี้ มีการสร้างสิ่งก่อสร้างใดขึ้นบ้าง ขณะที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้ให้ข้อมูลว่า ใน พ.ศ.2035 รัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หรือราว 30-40 ปีถัดมา หลังจากการสถาปนาวัดในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ได้มีการ “...ประดิษฐานมหาสถูปพระบรมธาตุสมเด็จพระบรมไตรโลกแลสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า....”  โดยไม่ได้ระบุว่าสร้างขึ้นที่วัดใด แต่มีการสันนิษฐานกันว่าน่าจะหมายถึงที่วัดพระศรีสรรเพชญ์
              จากข้อมูลในพงศาวดารที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ทำให้นักวิชาการในอดีตได้ตีความข้อความในพงศาวดารนี้ แล้วสันนิษฐานกันว่า ในรัชสมัยนี้คงมีการสร้างเจดีย์ขึ้น 2 องค์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ซึ่งเป็น “สมเด็จพระอัยกา” และ “สมเด็จพระชนก” ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  โดยคาดว่าอาจเป็นเจดีย์ทรงระฆัง 2 องค์แรก (เจดีย์องค์หน้าสุด และเจดีย์องค์กลาง) อย่างไรก็ตามการที่เจดีย์ชุดนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 3 องค์ จึงทำให้มีการสันนิษฐานกันต่อไปว่า เจดีย์องค์สุดท้าย อาจสร้างขึ้นในรัชกาลถัดมา (รัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร) โดยคาดว่าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระราชชนก ซึ่งเป็นผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ 2 องค์แรก โดยข้อสันนิษฐานทั้งหมดเหล่านี้ได้สร้างความจดจำ และได้รับการเล่าขานสืบมา
              อย่างไรก็ตาม ในราว 20 ปีที่ผ่านมา ข้อสันนิษฐานดังกล่าวนี้ได้มีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนหนึ่ง และมีการถกเถียงและสันนิษฐานกันไปหลากหลาย บางท่านสันนิษฐานว่า จากรูปแบบแผนผังและการออกแบบแล้ว น่าจะเป็นการสร้างขึ้นพร้อมกันในคราวเดียวทั้ง 3 องค์ และบางท่านยังอธิบายว่าอาจสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายอีกด้วย
             กระทั่งล่าสุด ศ.สันติ เล็กสุขุม นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ได้เสนอข้อคิดใหม่ว่า จากข้อความในพงศาวดารที่ระบุถึงการสร้างสถูปที่ระบุว่า “...ประดิษฐานมหาสถูปพระบรมธาตุสมเด็จพระบรมไตรโลกแลสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า....” นั้น หากมีการตีความและแบ่งวรรคตอนของข้อความเสียใหม่แล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่า ข้อมูลในพงศาวดารดังกล่าวนี้ ได้กล่าวถึงการบรรจุ “พระธาตุ” ของบุคคล 3 พระองค์ด้วยกัน นั่นคือ “พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า” + “พระบรมอัฐิของบรมไตรโลกนาถ” + “พระบรมอัฐิของพระบรมราชาธิราชที่ 3” ตรงกับเจดีย์ทรงระฆังจำนวน 3 องค์ที่ตั้งเรียงกันนั่นเอง  ซึ่งทั้งหมดน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกันในคราวเดียวในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ส่วนมณฑปน่าจะเป็นการก่อสร้างแทรกเพิ่มเติมในสมัยหลัง เนื่องจากมีร่องรอยก่อทับบันไดของเจดีย์ทรงระฆัง
            ขณะที่ ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ได้เสนอความเห็นที่แปลกใหม่และแตกต่างไปอีกแนวทางหนึ่ง  โดยเสนอว่า อาจเป็นไปได้ที่หลังจากการสถาปนาวัดในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระสถูป” ขึ้นเป็นประธานในวัดพระศรีสรรเพชญ์ก่อนจำนวน 1 องค์ ซึ่งคาดว่าคือเจดีย์องค์หน้าสุด โดยข้อสันนิษฐานนี้มาจากข้อมูลตอนหนึ่งในวรรณคดีเรื่องยวนพ่าย แต่งขึ้นในราวรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งคาดว่ามีการกล่าวถึง “พระสถูป” ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ดังความว่า
            “...แถลงปางพระศรีสรร      เพชญโพธิ
            แสดงสดูป(สถูป)พระเจ้าหล้า    ข่าวขจร....”
           โดยต่อมาในสมัยรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 จึงได้มีการสร้างเจดีย์เพิ่มขึ้นอีก 2 องค์ ตามที่ระบุไว้ในพงศาวดาร

อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในบทความเรื่อง “วัดพระศรีสรรเพชญ วัดในพระราชวังสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกครั้ง” โดย ศ.สันติ เล็กสุขุม และ “เจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ อยุธยา ข้อสันนิษฐานใหม่จากหลักฐานเก่า” โดย ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ในหนังสือสรรพศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลป์ เอกสารประกอบโครงการประชุมวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้