เจดีย์เชียงยัน ลำพูน สร้างขึ้นในคติ “ตันตระ” ต้นแบบเจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอดในไทย

เจดีย์เชียงยัน ลำพูน  สร้างขึ้นในคติ “ตันตระ” ต้นแบบเจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอดในไทย

เจดีย์เชียงยัน ลำพูน  สร้างขึ้นในคติ “ตันตระ”
ต้นแบบเจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอดในไทย

                รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เล่าถึงประวัติวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ไว้ในหนังสือกึ่งพุทธกาลพุทธศิลป์ไทยว่า เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ วัดแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ศึกษามนต์ลับแบบลัทธิตันตระยานมาก่อน โดยปรากฏหลักฐานจากคำกล่าวอ้างของพระภิกษุตารนาถ ชาวธิเบต(พ.ศ.๒๑๑๘-๒๑๗๗) ว่าท่านได้เคยเดินทางมาศึกษามนต์ลับที่วัดแห่งนี้
                รศ.ดร.พิริยะ เสนอว่า การเดินทางมาของภิกษุชาวธิเบตรูปนี้ อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างเจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอดที่ปัจจุบันเรียกว่า “เจดีย์เชียงยัน” ขึ้นภายในวัด ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ตั้งของคณะสงฆ์ศรีเชียงยัน และเป็นไปได้ว่าคณะสงฆ์คณะนี้อาจฝักใฝ่ในลัทธิตันตระยาน เช่นเดียวกับภิกษุชาวธิเบต
                รศ.ดร.พิริยะ อธิบายว่า เหตุที่เชื่อว่าเจดีย์เชียงยัน ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภิกษุชาวธิเบต ก็เนื่องมาจาก เจดีย์แห่งนี้มีรูปทรงเหมือนกับเจดีย์แบบ “วัชรบัลลังก์” ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอดตามคติของลัทธิตันตระยานที่เคยได้รับความนิยมสร้างกันมาก่อนหน้า ดังปรากฏตัวอย่างอยู่ในประติมากรรมแบบจำลองวิหารมหาโพธิ์ พุทธคยา ที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงของจีน(พ.ศ.๑๙๔๖-๑๙๖๗)  ซึ่งได้แสดงให้เห็นเจดีย์บริวารแบบต่างๆ ที่รายล้อมวิหารมหาโพธิ์อยู่ โดยพบว่ามีเจดีย์แบบวัชรบัลลังก์ตั้งอยู่องค์หนึ่ง รศ.ดร.พิริยะ คาดว่าเจดีย์เชียงยันแห่งนี้อาจเป็นต้นแบบให้แก่เจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอดภายในวัดเจดีย์เจ็ดแถว ศรีสัชนาลัย และเจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอด ที่ตั้งอยู่รอบเจดีย์ดอกบัวตูมของวัดมหาธาตุ จ.สุโขทัยด้วย

 ภาพซ้าย: เจดีย์เชียงยัน วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน 
 ภาพขวา: ประติมากรรมจำลองวิหารมหาโพธิ์ พุทธคยา แสดงให้เห็นเจดีย์บริวารองค์หนึ่ง(ในกรอบสีเหลือง)เป็นแบบวัชรบัลลังก์หรือทรงปราสาท ๕ ยอด (ที่มาภาพ: หนังสือกึ่งพุทธกาลพุทธศิลป์ไทย)


              

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้