ภาพปริศนาธรรมวัดบวร-วัดบรมฯ วาด “สภาคองเกรส” + “จอร์จ วอชิงตัน” แฝงนัย “เส้นทางประชาธิปไตย”

ภาพปริศนาธรรมวัดบวร-วัดบรมฯ วาด “สภาคองเกรส” + “จอร์จ วอชิงตัน” แฝงนัย “เส้นทางประชาธิปไตย”

ภาพปริศนาธรรม “ผู้ชี้ทาง” วัดบวรฯ วัดบรมฯ
ขรัวอินโข่งวาด รัชกาลที่ 4 ทรงออกแบบ

วาดภาพ “สภาคองเกรส” + “จอร์จ วอชิงตัน”
แฝงนัย “เส้นทางประชาธิปไตย”

                ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จะเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงผนวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ในช่วงเวลานั้นพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ “ขรัวอินโข่ง” วาดจิตรกรรมฝาผนังชิ้นสำคัญขึ้น 2 แห่งคือ ในอุโบสถวัดบวรนิเวศ และวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ รวมทั้งยังคาดว่าพระองค์น่าจะมีส่วนสำคัญในการออกแบบภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ด้วย ซึ่งต่อมาภาพทั้งสองแห่งนี้ถูกเรียกกันว่า “ภาพปริศนาธรรม”
                ภาพปริศนาธรรมทั้ง 2 แห่งนี้ มีเนื้อหาหลักเพื่อสรรเสริญพระรัตนตรัย โดยใช้วิธีการ “อุปมาอุปไมย” หรือ “เปรียบเทียบ” พระรัตนตรัยกับสิ่งต่างๆ โดยภาพประกอบเรื่องราวเป็น “ภาพแบบตะวันตก” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ภาพฝรั่ง” แทบทั้งสิ้น
                จากการศึกษาของทีมวิชาการสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรสพบว่า “ภาพฝรั่ง” ทั้งหมดเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพียง “ภาพฝรั่ง” ประกอบการสรรเสริญพระรัตนตรัยธรรมดาๆ หากแต่เป็น “ภาพเล่าเรื่องภูมิปัญญา-วิทยาการตะวันตก” ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าทึ่งและแฝงนัยแทบทั้งสิ้น
                ภาพที่น่าสนใจมากภาพหนึ่งคือ ภาพตอน “ผู้ชี้ทาง” วัดบรมนิวาส ซึ่งวาดเป็นภาพบุรุษผู้หนึ่งทำท่าชี้ทาง โดยที่ปลายทางมีภาพของอาคารยอดโดมหลังหนึ่ง จากการศึกษาพบว่า ภาพอาคารหลังนี้ ผู้วาดต้องการสื่อถึง “สภาคองเกรส” หรืออาคารรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าบุรุษผู้ชี้ทาง หมายถึง “จอร์จ วอชิงตัน” ผู้เปรียบเสมือนบิดาของสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้วางรากฐานประชาธิปไตยของสหรัฐฯ สำหรับภาพตอน “ผู้ชี้ทาง” นี้ ได้รับการวาดขึ้นที่วัดบวรนิเวศด้วยเช่นกัน แต่วาดแตกต่างไปเล็กน้อยคือ เป็นภาพบุรุษผู้หนึ่งกำลังชี้ทาง โดยด้านหลังของบุรุษผู้ชี้ทางนี้ วาดเป็นภาพอาคารหลังหนึ่งมีเสาเรียงรายอยู่ด้านหน้า และมีหอคอยตั้งอยู่บนหลังคา จากการศึกษาพบว่าอาคารหลังนี้สื่อถึง “บ้านพักของจอร์จ วอชิงตัน” ดังนั้นบุรุษผู้ชี้ทางที่อยู่ด้านหน้าอาคาร จึงน่าจะหมายถึง “จอร์จ วอชิงตัน” เช่นเดียวกันกับที่วัดบรมนิวาส
                การวาดภาพ “ภูมิปัญญา-วิทยาการตะวันตก” ทับซ้อนลงไปในภาพปริศนาธรรมนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็น “ภาพอุปมาซ้อนอุปมา” ที่นอกจากจะสื่อถึงการสรรเสริญพระรัตนตรัยแล้ว ยังเป็นการ “แฝงนัยปริศนา” ซ่อนอยู่ในภาพอีกชั้นหนึ่งด้วย ดังเช่นภาพ “ผู้ชี้ทาง” ภาพนี้ ซึ่งแฝงนัยว่า “ทางที่ควรไป คือ เส้นทางประชาธิปไตย”

อ่านรายละเอียดของประเด็นนี้ และประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ อีกจำนวนมาก ในหนังสือ “ถอดรหัส ภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง” โดยทีมวิชาการสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส ผลิตโดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส
































Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้