“ตาลปัตร” เกิดที่ลังกา แล้วต่อด้ามยาวที่เมืองไทย

“ตาลปัตร” เกิดที่ลังกา แล้วต่อด้ามยาวที่เมืองไทย

“ตาลปัตร” เกิดที่ลังกา แล้วต่อด้ามยาวที่เมืองไทย
            ตาลปัตร เป็นเครื่องใช้หนึ่งของสงฆ์ และมักใช้เสมอในการแสดงธรรมหรือสวดอภิธรรม แรกเริ่มมีที่มาจาก พัดใบตาล ด้ามสั้น ซึ่งพระสงฆ์ใช้โบกพัดไล่แมลงและพัดคลายความร้อน
            ณัฐพล ทองนาค อธิบายไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง พระพุทธรูปทรงถือตาลปัตรในประเทศไทย ที่มาและความหมาย ว่า ธรรมเนียมการถือตาลปัตรของพระสงฆ์เป็นคติเก่าแก่ที่มีมานานแล้ว คาดว่าน่าจะเริ่มต้นขึ้นในลังกาก่อน ดังปรากฏในคัมภีร์วิมติวิโนทนีฎีกา ซึ่งได้รับการแต่งขึ้นในลังกา ที่ได้อธิบายถึงการใช้ตาลปัตรไว้ว่า เพื่อบดบังภาพอันมิควรของสงฆ์ในระหว่างแสดงธรรม รวมถึงเพื่อสำรวมในการแสดงธรรม โดยตาลปัตรยุคแรก มีด้ามสั้นๆ เท่านั้น
            หลักฐานธรรมเนียมการใช้ตาลปัตรในลังกานี้ ปรากฏอยู่ในศิลปกรรมรูปพระพุทธเจ้าปางแสดงธรรม ศิลปะลังกา  ซึ่งทรงถือตาลปัตรด้ามสั้นไว้ที่หน้าตัก คติการถือตาลปัตรนี้ ต่อมาได้แพร่หลายไปในชุมชนโบราณที่รับอิทธิพลด้านศาสนาพุทธจากลังกา เช่น ยะไข่ พุกาม รวมถึงชุมชนโบราณในไทย เช่น ละโว้(ลพบุรี) ซึ่งพบหลักฐานศิลปกรรมพระพุทธรูปปางแสดงธรรม พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือตาลปัตรด้ามสั้น อีกพระหัตถ์หนึ่งทำท่าประคองตาลปัตรอยู่ที่ด้านบน
            ธรรมเนียมการใช้ตาลปัตรนี้ต่อมาได้ส่งอิทธิพลให้แก่กรุงศรีอยุธยาด้วย โดยในสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้ปรับปรุงรูปแบบด้วยการขยายด้ามจับให้ยาวขึ้นและใช้สืบเนื่องมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ได้มีการเพิ่มความหมายใหม่ให้แก่พระพุทธรูปปางแสดงธรรมที่ถือตาลปัตรบังไว้ด้านหน้า ด้วยการสื่อนัยใหม่ว่า เป็นเสมือน “เกราะบังภัย” สำหรับผู้สร้าง ดังปรากฏธรรมเนียมการสร้าง “พระชัย” ประจำรัชกาลในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งสร้างขึ้นเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม ทรงถือตาลปัตรบังพระพักตร์ไว้หน้าด้าน เพื่ออัญเชิญไปพร้อมกับกองทัพในยามออกศึกสงคราม

อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ใน วิทยานิพนธ์เรื่อง พระพุทธรูปทรงถือตาลปัตรในประเทศไทย : ที่มาและความหมาย โดย ณัฐพล ทองนาค ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
(ภาพ: พระพุทธรูปปางแสดงธรรม วัดโบสถ์สามเสน กรุงเทพฯ ที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org )

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้