รูปหล่อโลหะจากเขมร ตั้งอยู่ใน “มณฑป” ล้อมรอบมหาธาตุ อยุธยา

รูปหล่อโลหะจากเขมร ตั้งอยู่ใน “มณฑป” ล้อมรอบมหาธาตุ อยุธยา

รูปหล่อโลหะจากเขมร ตั้งอยู่ใน “มณฑป” ล้อมรอบมหาธาตุ อยุธยา
                เป็นที่ทราบทั่วไปว่า หลังจากการเสด็จยกทัพไปตีเมืองพระนคร เขมรโบราณ เจ้าสามพระยา กษัตริย์แห่งอยุธยา ได้ทรงขนย้ายเอาบรรดารูปหล่อโลหะกลับมายังกรุงศรีอยุธยาด้วย ซึ่งในพระราชพงศาวดารเรียกว่า “พญาแก้ว พญาไท รูปพระโค รูปสิงห์สัตว์” โดยนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดมหาธาตุ แต่ต่อมาหลังจากสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 1 บรรดารูปหล่อเหล่านี้ได้ถูกขนย้ายไปยังหงสาวดี และต่อมาได้ถูกย้ายมาไว้ที่เมืองมัณฑเลย์ จนถึงปัจจุบัน
                ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ และอิสรชัย บูรณะอรรจน์ ได้อธิบายถึงบรรดารูปหล่อเหล่านี้ไว้ในบทความเรื่อง “รูปแบบสถาปัตยกรรมพระศรีรัตนมหาธาตุอยุธยาฯ” ไว้ตอนหนึ่งว่า แม้ว่าประติมากรรมเหล่านี้จะถูกขนย้ายไปยังหงสาวดีในคราวสงครามเสียกรุงครั้งที่ 1 แล้ว แต่ต่อมาคาดว่าชาวกรุงศรีฯ น่าจะมีการสร้างรูปหล่อเหล่านี้ขึ้นใหม่ทดแทนของเดิม ดังที่มีการกล่าวถึง “รูปหล่อ” เหล่านี้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับฟาน ฟลีต โดยระบุว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุขึ้นใหม่ พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ย้าย “รูปหล่อทองแดง” ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่พระมหาธาตุ ออกไปไกลหลายวา
                จากการศึกษาของ ดร.เกรียงไกร และคณะ ได้เสนอข้อคิดใหม่ว่า “รูปหล่อ” เหล่านี้ อาจเคยประดิษฐานอยู่ในสิ่งก่อสร้างประเภทหนึ่งที่ตั้งอยู่รายล้อมพระมหาธาตุ และสลับกับพระเจดีย์บริวาร ซึ่งเดิมอาจเป็นสถาปัตยกรรมแบบ “มณฑป” ที่เปิดโล่งทั้ง 4 ด้าน แต่ปัจจุบันหลงเหลือแต่เพียงส่วนฐานเท่านั้น
                ดร.เกรียงไกร อธิบายว่า การนำ “รูปหล่อ” ซึ่งน่าจะเป็นประติมากรรมรูปยักษ์และสัตว์หิมพานต์ ตั้งไว้ล้อมรอบพระมหาธาตุเช่นนี้ น่าจะเป็นการสื่อความหมายให้สอดรับกับความหมาย “เขาพระสุเมรุ” ของพระมหาธาตุ โดยเปรียบให้พื้นที่รอบพระมหาธาตุหมายถึงเชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นสถานที่อยู่ของบรรดาสัตว์หิมพานต์ การตั้งประดับไว้รายรอบอาคารสำคัญเพื่อสื่อถึงเขาพระสุเมรุเช่นนี้ คล้ายคลึงกับ การตั้งหุ่นจำลองรูปสัตว์หิมพานต์ ตกแต่งอยู่รายรอบพระเมรุมาศของเชื้อพระวงศ์นั่นเอง
                อย่างไรก็ตาม บรรดารูปหล่อเหล่านี้ ต่อมาหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ได้สูญหายไปจนหมดสิ้น

อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในบทความเรื่อง “รูปแบบสถาปัตยกรรมพระศรีรัตนมหาธาตุอยุธยา ภายหลังการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” โดย ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ และ อิสรชัย บูรณะอรรจน์ วารสารหน้าจั่ว ฉบับที่ 29 พ.ศ.2558 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ที่มาภาพ: รูปแบบสถาปัตยกรรมพระศรีรัตนมหาธาตุอยุธยาฯ)


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้