เผยโฉม 160 ภาพสลักฐานชั้นล่างของบุโรพุทโธ ที่ถูก “ปิดตาย”

เผยโฉม 160 ภาพสลักฐานชั้นล่างของบุโรพุทโธ ที่ถูก “ปิดตาย”

เผยโฉม 160 ภาพสลักฐานชั้นล่างของ "บุโรพุทโธ" ที่ถูก “ปิดตาย”
     บุโรพุทโธ เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่และเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน สร้างขึ้นบริเวณภาคกลางของเกาะชวา โดยกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์  เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 7-9 แต่ต่อมาได้ตกอยู่ในสภาพรกร้าง
     การบูรณะโบราณสถานแห่งนี้เริ่มในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ด้วยการขุดลอกเอาดินภูเขาไฟที่ทับถมหนาราว 3 เมตรและต้นไม้ที่ขึ้นปกคลุมออก  เผยให้เห็นภาพสลักทั้งที่ผนังและระเบียง ไล่เรียงกันขึ้นไปนับรวมได้กว่าพันภาพ รวมถึงยังพบพระพุทธรูปอีกกว่า 500 องค์
     ต่อมา ค.ศ. 1885 ทีมนักสำรวจนำโดย J. W. Ijzerman ได้พบภาพสลักที่ฐานด้านล่าง ซึ่งถูกปิดทับด้วยฐานหินเรียบๆ จำนวน 160 ภาพโดยบังเอิญ  จากนั้นระหว่าง ค.ศ. 1890-1899 Kassian Céphas ได้ทำการถ่ายภาพสลักทั้งหมดไว้  แล้วก่อฐานปิดไว้เหมือนเดิม ก่อนที่จะรื้อฐานที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ออกใน ค.ศ. 1943 เพื่อเปิดให้ชมภาพสลักได้บางส่วน (คือที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตำแหน่งภาพหมายเลข 21-23 จากทั้งหมด 160 หมายเลข) ภาพเหล่านี้เป็นภาพผู้คนและทวยเทพ ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดจากผลของกรรม
     เมื่อนักวิชาการเห็นภาพรวมของภาพสลักทั้งหมด ก็ได้ศึกษาตีความจนได้ข้อสันนิษฐานที่ยอมรับกันทั่วไปว่าบุโรพุทโธได้รับการสร้างขึ้นเพื่อมุ่งหมายให้สัมพันธ์กับ “มณฑลจักรวาล” ตามคติพุทธศาสนามหายาน ซึ่งในแง่มุมหนึ่งก็คือการจำลองให้เป็นจักรวาลที่ประกอบไปด้วยกามภูมิ รูปภูมิและอรูปภูมิ โดยเปรียบให้ส่วนฐานล่างสุดเป็นกามภูมิ และส่วนยอดสุดคืออรูปภูมิ
     อย่างไรก็ตาม เมื่อฐานด้านล่างที่ประดับด้วยภาพผู้คนและทวยเทพ ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดจากผลของกรรม ซึ่งเชื่อกันว่าสื่อถึงกามภูมิ กลับถูกปิดทับด้วยกลายเป็นฐานเรียบ ๆ จนไม่สามารถมองเห็นได้อีกต่อไป นักวิชาการจึงสันนิษฐานกันว่า ฐานที่ปิดทับนี้น่าจะสร้างขึ้นด้วยเหตุผลบางอย่าง ภายใต้การควบคุมของสถาปนิกรุ่นหลัง เพราะสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นนี้ย่อมต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างมากกว่าหนึ่งชั่วอายุคนอย่างแน่นอน
     นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงฐานล่าง คงเป็นเพียงเหตุผลทางวิศวกรรม คือต้องการก่อเสริมหินเข้าไปเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับฐานล่าง ที่ต้องรองรับน้ำหนักสิ่งก่อสร้างด้านบนที่สูงขึ้นกว่า 40 เมตร แต่ด้วยเหตุที่ภาพสลักที่เกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้วนั้น หลายๆ ภาพมีร่องรอยถูกสกัดทำลายก่อนที่จะก่อฐานปิดทับไว้ ทำให้นักวิชาการบางท่าน เช่น ดร. นันทนา ชุติวงศ์ มีความเห็นว่าการก่อปิดทับภาพสลักดังกล่าว น่าจะเป็นการตั้งใจทำขึ้นด้วยเหตุผลทางความเชื่อใหม่บางประการ ที่อาจต้องการปิดภาพกามภูมิที่สะท้อนถึงความรุนแรงและความไม่เป็นมงคล เช่น ภาพนรก ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกันกับการแสดงภาพจักรวาลบนรอยพระพุทธบาท ที่จะไม่รวมเอาส่วนที่เป็นอัปมงคลไว้
     ทั้งนี้ยังน่าสังเกตด้วยว่าการตั้งใจปิดภาพสลักชั้นล่างซึ่งเป็นภาพกามภูมินี้  ในอีกมุมหนึ่งก็สอดคล้องกับคติพุทธศาสนามหายานโดยเฉพาะกับสำนักอวตังสกะ ที่มองว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความแจ่มใส สรรพสัตว์ล้วนมีจิตของพุทธะอยู่ในตัว จิตเดิมจึงเป็นจิตบริสุทธิ์ ปราศจากความแปดเปื้อนใดๆ  ซึ่งสำนักนี้เองเป็นสำนักที่ให้ความสำคัญกับ “คัณฑวยูหสูตร” ที่เป็นพระสูตรที่มีเนื้อหาว่าด้วยการแสวงหาทางบรรลุสัจธรรมสู่การเป็นพระโพธิสัตว์ของชายหนุ่มที่มีชื่อว่าสุธน และเนื้อหาของพระสูตรนี้ถูกนำมาสลักเป็นภาพเล่าเรื่องที่กินพื้นที่ส่วนใหญ่บนผนังและระเบียงของบุโรพุทโธอีกด้วย


คลิกชมภาพสลัก และงานวิจัยได้ที่นี่
-เข้าชมภาพ “กามภูมิ” ที่ฐานชั้นล่าง จำนวนทั้งหมด 160 ภาพ ซึ่งถ่ายเมื่อ ค.ศ.1890 โดย Kassian Cephas ก่อนที่จะก่อฐานปิดทับภาพสลักตามสภาพเดิมได้ที่
  https://www.photodharma.net/Indonesia/01-Karmavibhanga-Storyboard/01-Karmavibhanga-Storyboard.htm
- อ่านรายละเอียดการศึกษาภาพสลักที่ฐานล่างได้ที่ http://repositori.kemdikbud.go.id/4644/
- อ่านการตีความภาพสลักที่ฐานชั้นล่างของ Hariani Santiko ได้ที่
  https://www.academia.edu/36255265/Identification_Of_Karmawibhangga_Reliefs_At_Candi_Borobudur_


 




 

ฐานชั้นล่างเดิมมีภาพสลักที่สื่อถึงกามภูมิ แต่ต่อมาถูกก่อฐานปิดทับ ปัจจุบันเปิดให้เห็นภาพสลักเพียงบางส่วน นักวิชาการเชื่อว่าเป็นภาพที่สลักตามคัมภีร์กรรมวิภังค์ ที่ว่าด้วยเรื่องผลของการกระทำ ย่อมส่งผลให้สรรพสัตว์เวียนว่ายตายเกิดมาเป็นเช่นนั้น


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้